อุตสาหกรรมเหล็กเฮ รัฐบาลขานรับจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใช้เหล็กในประเทศ Made in Thailand กลุ่มอุตฯเหล็ก ส.อ.ท. ชี้รัฐมาถูกทาง หลังเสนอเรื่องและรอมาหลายปี
นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าตามที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ
ได้เสนอเรื่องตั้งแต่ปี2558 ให้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณาส่งเสริมการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตในประเทศไทย และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็ก
ได้ติดตามเรื่องอย่างต่อเนื่องกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ จนกระทั่งในปี 2563 นี้ กระทรวงคมนาคม ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ
และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตในประเทศ ภายใต้นโยบาย“Thai First ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน” ของรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นการนำร่องและได้ข้อมูลสนับสนุนการผลักดันให้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล อีกทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นำโดยประธานสภาฯ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ได้ผลักดันเสนอให้รัฐบาลใช้นโยบาย Made in Thailand เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย
ล่าสุดรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เห็นความสำคัญและจำเป็นของ Made in Thailand โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุด เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ได้มีมติ
อนุมัติหลักการให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของพัสดุที่จะใช้สำหรับงานก่อสร้างกำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน
โดยต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กหรือเหล็กกล้าที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมดในครั้งนั้นเช่น เหล็กเส้น เหล็กลวด ท่อเหล็ก เหล็กแผ่น
ร่างกฎกระทรวงการคลัง เรื่อง “กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ภาครัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน” เป็นช่วงเวลาที่ถูกต้องและเหมาะสมยิ่ง เพราะจากนี้ไป
จะเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีการลงทุนด้านโครงสร้างและระบบสาธารณูปโภคมากสุด การส่งเสริมให้ใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตในประเทศจะช่วยสร้างงาน และการหมุนเวียนทาง
เศรษฐกิจภายในประเทศไทยได้มหาศาล และจะเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด
นายนาวา มั่นใจว่าการขับเคลื่อนส่งเสริมสินค้า Made in Thailand ของรัฐบาล หากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ นำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง จะช่วยให้อุตสาหกรรมภายในประเทศ
ในภาพรวม สามารถฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากผลกระทบโควิด และใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่ได้มากขึ้น แม้ว่าต้นทุนของการใช้พัสดุที่ผลิตภายในประเทศอาจจะ
สูงกว่าสินค้าทุ่มตลาดจากต่างประเทศบ้าง แต่ถ้าพิจารณาในภาพรวมของการจ้างงานและการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศไทย ย่อมให้ผลเชิงบวกต่อเนื่องมากกว่า
อย่างแน่นอน
โดยเฉพาะมีงานวิจัยโดยศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ศึกษาผลเชิงบวกจากการใช้สินค้าในประเทศโดยการใช้เครื่องมือตารางปัจจัย
การผลิตและผลผลิต หรือ Input-Output Table (I-O Table) ซึ่งเป็นตารางที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตและ การใช้ผลผลิต ทั้งที่ใช้ไปในขั้นสุดท้าย และที่ใช้
ไปเพื่อการอุปโภคขั้นกลาง สำหรับข้อมูลโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคม 44 โครงการ โดยได้มีการประเมินจากผู้ผลิตสินค้าเหล็กในประเทศว่าสามารถใช้สินค้า
เหล็กในประเทศได้เป็นมูลค่าถึงประมาณ 110,000 ล้านบาท และจากมูลค่าดังกล่าวเมื่อนำไปวิเคราะห์โดย I-O table พบว่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรง
และทางอ้อมกว่า 139,000 คน และช่วยให้ GDP ของประเทศปรับตัวดีขึ้นขึ้นอย่างแน่นอน มิฉะนั้น หากปล่อยให้สินค้าต่างชาติทุ่มตลาดมายังประเทศไทย มากเกินไป
จนอุตสาหกรรมพื้นฐานภายในประเทศไม่สามารถอยู่รอดได้ ประเทศไทยต้องพึ่งพิงสินค้านั้นจากต่างชาติเป็นหลัก ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและความ
มั่นคงแห่งชาติ
“ประเทศไทยเคยเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมเหล็กในอาเซียน แต่เผชิญวิกฤติเหล็กทุ่มตลาดจากต่างชาติปริมาณมากในระยะหลังจนการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรม
เหล็กไทย ลดต่ำเหลือเพียง 30% ซึ่งถือว่าเป็นภาวะวิกฤติแล้ว แม้ความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทย ในปี 2563 นี้ จะมีปริมาณราว 16 ล้านตัน ลดลง 9% จากปี 2562
การขับเคลื่อนตามนโยบาย Made in Thailand จะช่วยให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กไทยปรับตัวสูงขึ้น อุตสาหกรรมเหล็กเป็นเป็นอุตสาหกรรมหนัก
ที่มีมูลค่าการลงทุนสูง และเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญของประเทศไทย แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าเหล็กมากถึงสองในสามของการบริโภคเหล็ก
ของประเทศอยู่แล้ว หากประเทศไทยยิ่งต้องพึ่งพาเหล็กนำเข้ามากขึ้น ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแบบยั่งยืนและความมั่นคงแห่งชาติ ในนาม
กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขอแสดงความชื่นชมต่อรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่ได้ขับเคลื่อนการส่งเสริมพัสดุ Made in Thailand นี้
โดยอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจะเดินหน้าทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และควบคุมต้นทุนโดยเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง” นายนาวา กล่าวทิ้งท้าย
แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ