fbpx

10 กุมภาพันธ์ 2021
17 กุมภาพันธ์ 2021

พิษโควิดส่อทุบเหล็กโลกขาด ผู้ค้าสบโอกาสแห่ส่งออกตลาดสหรัฐฯ

Update : 14 กุมภาพันธ์ 2564

 

 


พิษโควิดบีบจีนลดส่งออกเหล็ก หันใช้ในประเทศ ส่อทำเหล็กโลกขาดแคลน ดันราคาขยับ ผู้ผลิตไทยผู้ค้าในต่างประเทศได้อานิสงส์
เร่งส่งออกไปตลาดใหญ่สหรัฐฯหลังได้ราคาดี


ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาราคาเหล็กในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นทุกตลาด ทั้งราคาผลิตภัณฑ์เหล็ก และวัตถุดิบ โดยราคาเหล็กเส้นก่อสร้าง (Rebar) ในภูมิภาคอาเซียน
ปรับเพิ่มจาก 462 ดอล ลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2563 ทะยานขึ้นไปสูงสุดที่ 643 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2563
หรือเพิ่มขึ้น 38% ในระยะเวลา 3 เดือน เมื่อเข้าสู่ต้นปี 2564 ราคาได้เพิ่มต่อเนื่องมาอยู่ที่ 647 ดอลลาร์สหรัฐฯ

นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากความผันผวนของราคาเหล็กในช่วงปีที่ผ่านมา
ส่งผลให้ราคาเหล็กของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันตามกลไกของราคา ทั้งนี้จากการระบาดของโรคโควิดในจีนตั้งแต่เมื่อปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2563
ซึ่งการส่งออกของจีน และประเทศต่าง ๆ หยุดชะงัก แต่ไทยยังมีผู้ผลิตเหล็กในประเทศที่สามารถซัพพลายสินค้าให้เพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการได้

ทั้งนี้ผู้ผลิตเหล็กที่อยู่ในไทยมีทั้งผู้ผลิตที่เป็นสัญชาติไทยโดยตรง รวมถึงผู้ผลิตที่มีบริษัทแม่เป็นญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ ซึ่งทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็ช่วยซัพพลาย
สินค้าเหล็กมาให้ในตลาดไทยด้วยในภาวะที่ประเทศจีนมีการนำเข้าเหล็กจำนวนมาก

“ตอนนี้จีนเริ่มกลับกลายมาเป็นผู้บริโภคเหล็กหรือไม่ก็มีการส่งออกเหล็กลดลง ทำให้ราคาเหล็กในท้องตลาดแพงขึ้นแต่การที่เรามีผู้ผลิตในประเทศซึ่งมีสายสัมพันธ์
กับทางญี่ปุ่นและเกาหลี หรือมีผู้ผลิตที่อยู่ในประเทศไทยดั้งเดิมซึ่งมีสายสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์เดิม ๆ ก็ช่วยให้สินค้าในประเทศบรรเทาการขาดแคลนได้”

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่าด้วยภาวะราคาและสถานการณ์เช่นนี้ มีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดปัญหาการขาดแคลนขึ้น หากพึ่งพาแต่การนำเข้าจากผู้ผลิตเหล็กในต่างประเทศ
สิ่งที่อาจเจอตอนนี้ คือการไม่รับคำสั่งซื้อของผู้ผลิตในประเทศของผู้ส่งออกบางรายเนื่องจากเห็นโอกาสส่งออกไปยังสหรัฐฯ แทนในช่วงนี้ที่ราคาเหล็กในตลาดสหรัฐฯ
ปรับตัวขึ้นสูงมาก
ปัจจุบันผู้ผลิตเหล็กโดยรวมทุกกลุ่มมีอัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 เฉลี่ยประมาณ 31% ของกำลังการผลิตทั้งหมด นั่นหมายความว่า
อุตสาหกรรมเหล็กไทยยังมีความสามารถที่จะตอบสนองต่อความต้องการบริโภคเหล็กภายในประเทศไทยอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ในปัจจุบันทั้งสถาบันเหล็กฯ
กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกันผลักดันนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 เพื่อให้ประเทศไทย
มีการวางยุทธศาสตร์ในอนาคตเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบขั้นพื้นฐาน อีกทั้งเพิ่มความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้ไทยมีความมั่นคง
ด้านวัตถุดิบเหล็กที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางสถาบันเหล็กฯ อยู่ในระหว่างการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการและสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเพื่อวางยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเหล็ก
ในระยะยาวเพื่อความมั่นคงยั่งยืนทางด้าน supply เหล็กในประเทศด้วย

แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

อ่านข่าวอื่น ๆ >> ข่าวอุตสาหกรรมเหล็ก